วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ว่าด้วยเรื่อง โปสเตอร์หนัง

วันนี้เราจะมาพูดถึงสื่อสิ่งพิมพ์กัน

เคยสงสัยมั๊ยว่า แบบไหนถึงเรียกว่าสื่อสิ่งพิมพ์


     “สื่อสิ่งพิมพ์” คือ “สิ่งที่พิมพ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นกระดาษหรือวัตถุใดๆ ด้วยวิธีการต่างๆ อันเกิดเป็นชิ้นงานที่มีลักษณะเหมือน ต้นฉบับขึ้นหลายสำเนาในปริมาณมากเพื่อเป็นสิ่งที่ทำการติดต่อ หรือชักนำให้ผู้อื่นได้เห็นหรือทราบ ข้อความต่างๆ”


ทีนี้เราก็รู้จักสื่อสิ่งพิมพ์กันแล้วนะคะ วันนี้นุ่นมีสื่อสิ่งพิมพ์ที่ชอบมานำเสนอ



นั่นก็คือโปสเตอร์หนังค่ะ




โปสเตอร์หนังเรื่อง Cinema Paradiso (เป็นหนังของประเทศ อิตาลี)

ถ้าถามว่าทำไมถึงชอบโปสเตอร์หนังเรื่องนี้หรอคะ ลองมาอ่านคำอธิบายข้างล่างกันดีกว่า

ไม่แน่นะถ้าเห็นการสื่อความหมายของโปสเตอร์ชิ้นนี้อาจจะชอบเหมือนที่นุ่นชอบก็ได้นะคะ



ในภาพจะเห็นว่ามีผู้ใหญ่และเด็กกำลังขี่จักรยานด้วยกัน บนเส้นทางหนึ่ง ซึ่งทางนั้นก็คือแผ่นฟิล์มที่ทอดยาวไม่มีที่สิ้นสุด นั่นแสดงให้เห็นว่าในหนังเรื่องนี้มีผู้ใหญ่และเด็กเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยมีความเกี่ยวข้องกับฟิล์มภาพยนตร์ หรือบนเส้นทางของฟิล์มนั่นเอง และสีสันในภาพนั้นก็เป็นโทนสีที่ค่อนข้างคลาสสิค ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฟิล์มมันมีความคลาสสิคในตัวของมันเองด้วยค่ะ

สั้นๆง่ายๆแค่นี้ คือสิ่งที่นุ่นได้รับการสื่อมาจากโปสเตอร์แผ่นนี้


นุ่นไม่รู้ว่าจริงๆแล้วคนที่ออกแบบโปสเตอร์เขาต้องการสื่อความหมายเช่นนี้หรือไม่ แต่นุ่นคิดว่า อย่างน้อยนุ่นก็น่าจะเดาถูกสักอย่างแหละเนอะ



เห็นโปสเตอร์แล้วก็อย่าลืมไปหาภาพยนตร์เรื่อง  Cinema Paradiso มาดูกันนะคะ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้การันตีด้วยรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

     - รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์แห่งเมืองคานส์ เมื่อปี 1989 

     - รางวัลออสการ์ ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี1989

     - รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาขาใช้ภาษาต่างประเทศ

     - รางวัลลูกโลกทองคำ และบาฟต้า ในปี 1990

รางวัลการันตีเยอะขนาดนี้ไม่หามาดูไม่ได้แล้วหละค่ะ แต่อาจจะหาดูยากหน่อยนะ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างและออกฉายเมื่อปี 1988

แต่ถ้ายังจำกันได้ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่นุ่นเคยได้แนะนำไป ที่นั่นมีภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ดูแน่นอนค่ะ


วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เมืองมุมฉาก


เรื่องย่อ
          5 เรื่องสั้น ในฉากมหานครนิวยอร์กก่อนโศกนาฏกรรม 9/11 "เมืองมุมฉาก" คือหนังสือเล่มแรกของ ปราบดา หยุ่น ที่สร้างความฮือฮา เมื่อวางแผงในปี พ.ศ. 2543 ก่อนที่ปราบดาจะได้รับรางวัลซีไรต์ จาก ความน่าจะเป็น ในปี พ.ศ. 2545 ปราบดาใช้ประสบการณ์ที่ได้จากการพำนักอาศัยร่ำเรียนในนิวยอร์กอยู่นาน 6 ปี ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องสั้นเกี่ยวกับตัวละคร 5 แบบ ศิลปินชาวญี่ปุ่น นักสืบชาวจีน นางแบบสาวชาวฝรั่งเศส อดีตกวีใหญ่ชาวรัสเซีย และพ่อลูกหนึ่งชาวไทย ทั้งหมดใช้ชีวิตอย่างมีปมขมหวาน เชื่อมโยงกับตำนานในแต่ละย่านของนิวยอร์ก





          หนังสือ'เมืองมุมฉาก' เขียนโดย ปราบดา หยุ่น ตอนแรกที่เห็นแค่เห็นชื่อหนังสือก็สนใจแล้ว แต่พอลองเปิดผ่านๆข้างใน ตัวหนังสือเยอะแยะเต็มไปหมด เริ่มรู้สึกขี้เกียจอ่าน แต่ด้วยความที่คนขายบอกว่าเล่มนี้สนุกนะ จึงลองอ่านดูสักนิด แค่นั้นแหละ ติดใจต้องซื้อกลับไปอ่านต่อที่บ้านเลยทีเดียว


          หนังสือเล่มนี้ได้รวม5เรื่องสั้น ผ่านตัวละครที่แตกต่างกัน เหตุการณ์ที่ต่างกัน แต่เกิดขึ้นในมหานครนิวยอร์กเหมือนกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เหมือนเป็นการสะท้อนปัญหาของสังคม ถึงแม้เหตุการณ์ในหนังสือจะเกิดขึ้นที่ มหานครนิวยอร์ก แต่ก็อาจจะพบเจอได้บ่อยครั้งเมื่ออยู่ประเทศไทย ทำให้คิดว่าเขาเขียนจนเราอินไปกับหนังสือรึเปล่านะ หรือมันเกิดขึ้นจริงจนเราชิน


          อ่านหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่ได้เห็นปัญหาของสังคมเท่านั้น ยังได้เห็นวิถีชีวิต ความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างนั้นล้วเกิดมาจากประสบการณ์ชีวิตล้วนๆ แม้แต่ตัวละครที่เป็นเด็กในหนังสือเล่มนี้ ก็สามารถคิดได้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกหรือผิด เด็กคนหนึ่งไม่เคยได้เรียนรู้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือคล้ายคลึงกันจึงทำให้ไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด ต่างจากเด็กอีกคนที่เคยได้เรียนรู้ผ่านญาติผู้ใหญ่ ทำให้หวนคิดได้ว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้นมันไม่ดีนะ


          สำหรับคนที่คิดว่าจะใช้การลำดับเหตุการณ์อย่าง ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ กับหนังสือเล่มนี้แล้วละก็ ต้องขอบอกไว้ก่อนเลยว่าอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนัก เพราะในหนังสือเล่มนี้มีการเขียนที่เดาทางยากมีการผูกเรื่องในแบบที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้ในหนังสือเล่มนี้ นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังทำให้อินไปกับมัน รู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนาน และชวนให้ติดตามอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะมีเรื่องขำขันที่ปนความแสบ  มีเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ หรือแม้กระทั่งสำนวนการเขียนที่น่าสนใจของคุณปราบดา หยุ่น

       

           ลองมาดูเรื่องย่อกันสักตอนอาจทำให้ยิ่งอยากไปหามาอ่านกันมากขึ้น
           มีพ่อลูกคู่หนึ่ง เดินทางจากเมืองไทยไปยังมหานครนิวยอร์ก การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนขอผู้เป็นย่าของเด็ก ด้วยเหตุผลที่ว่า คนเมืองนอกนั้นต่างจากเมืองไทย ทั้งนิสัยใจคอ การใช้ชีวิต หน้าตา ความประพฤติ และอีกหลายๆอย่าง หากพาไปเมืองนอกตั้งแต่เด็กๆ ไปโตที่นั่นจะทำให้พูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่รู้วัฒนธรรมไทย มีพฤติกรรมเหมือนคนที่นู่น แต่ผู้เป็นพ่อนั้นกลับคิดต่างกัน คือคิดว่าถ้าพาไปตั้งแต่เด็กๆจะได้พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง ความคิดความอ่านจะโตกว่าเด็กไทยในวัยเดียวกันเมื่อกลับมาเมืองไทย ซึ่งสุดท้ายผู้เป็นพ่อก็สามารถพาลูกไปยังมหานครนิวยอร์กได้ตามต้องการ การเดินทางมาครั้งนี้ทำให้เด็กชายคนนี้ได้เรียนรู้เหตุผลต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว  และจากการเรียนรู้นั้น เมื่อเจอเหตุการณ์ที่เหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ เด็กก็สามารถหาทางออกให้มันด้วยเหตุผลง่ายๆเหมือนที่พ่อและย่าหาเหตุผลง่ายๆขึ้นมาเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ

          เรื่องทั้งหมดจบลงด้วยเหตุผลง่ายๆ




        หากใครได้ลองอ่านแล้วก็ คงจะติดใจไม่น้อยกับ'เมืองมุมฉาก'